การพัฒนาครูด้วยหลักสูตรการอบรมออนไลน์

LightBlog

Breaking

วัฒนธรรมโรงเรียน

                         โรงเรียนเป็นองค์กรที่มีบุคลากรมากมายหลายฝ่าย ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม แบบแผนพฤติกรรมที่ปฏิบัติแตกต่างกันตามลักษณะสังคมที่ตนเองดำเนินชีวิตอยู่ ดังนั้นเมื่อมาอยู่รวมกันในโรงเรียนหรือในสังคมอีกสังคมหนึ่ง ก็จะมีการหลากหลายความคิด ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมให้เป็นแนวทางเดียวกันที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมโรงเรียน ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารงานภายในโรงเรียนรวมทั้งการนิเทศภายในโรงเรียนด้วย

 

ความหมายของวัฒนธรรมโรงเรียน

                         วัฒนธรรมโรงเรียน (School  Culture) หมายถึง วิถีชีวิตและการปฏิบัติตนของบุคลากรในโรงเรียนต่อเป้าหมายของโรงเรียนและบุคลากรคนอื่น ๆ วัฒนธรรมโรงเรียนจะบ่งบอกถึงอัตตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งแต่ละจะแตกต่างกัน เช่น จารีตประเพณีความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐานที่โรงเรียนนั้นยึดถือและปฏิบัติ หรือประวัติความเป็นมาของโรงเรียน ซึ่งถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน จากผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน

                         เซอร์จิโอวานนี และสตาร์ราท (Sergiovanni and Starratt 1988) ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมโรงเรียนเป็นตัวกำหนดแนวทางการพิจารณากฎเกณฑ์ของพฤติกรรมพิธีการ เรื่องราวที่เล่าสู่กันฟัง รวมทั้งค่านิยม ความเชื่อที่บุคคลนั้นมีร่วมกันในองค์กร ความเข้าใจถึงวัฒนธรรมโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้เข้าใจว่าบุคคลนั้นคิดอะไร และทำอะไรมากกว่าที่จะคิดว่าเขาทำตามระบบการบริหารวิชาการ ตัวอย่างเช่น ครูจะสอนตามรูปแบบสื่อสารที่มาจากความเชื่อ ข้อสนับสนุนของคณะครูด้วยกันมากกว่าจะสอนตามรูปแบบที่ผู้บริหารต้องการให้สอน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นิเทศจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมโรงเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ที่ผู้นิเทศจะต้องให้ทำงานร่วมกับครู เพื่อปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอน ดังนั้นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานที่ครูในโรงเรียนนั้นยึดถือหรือมีอยู่ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือและความผูกพันต่อภาระหน้าที่(Commiment) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานของครูและผู้ที่นิเทศในทำนองเดียวกัน

                         เซอร์จิโอวานนี และสตาร์ราท (Sergiovanni and Starratt 1988) ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไว้ 5 ประการ ดังนี้

                         1. ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน (The School's History) โรงเรียนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร มีจารีตประเพณีอย่างไร มีเรื่องใดบ้างที่บอกเล่ากันมา มีการนำมาเล่าใหม่ มีเหตุการณ์ใดในโรงเรียนที่มองข้ามหรือถูกลืม เป็นต้น

                         2. ความเชื่อ (Beliefs) ครูในโรงเรียนมีความเชื่อและข้อสมมติฐานร่วมกัน อะไรบ้าง โรงเรียนมีโครงสร้างอย่างไร สอนอย่างไร บทบาทของครูและนักเรียน วินัยโรงเรียนความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับโรงเรียน บางทีเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ภูมิปัญญา และในลักษณะอื่น ๆ

                         3. ค่านิยม (Values) คือ สิ่งที่โรงเรียนยกย่องให้ความสำคัญ รวมทั้งการประเมินค่าในสิ่งที่พูดและสื่อสารกัน

                         4. บรรทัดฐานและมาตรฐาน (Norms and Standard) ได้แก่ สิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติสำหรับควบคุมพฤติกรรมของครู ผู้นิเทศ และผู้บริหารโรงเรียน บรรทัดฐานและมาตรฐานอาจนำมาใช้ในการพิจารณาว่าพฤติกรรมใดควรได้รับยกย่องชมเชยหรือลงโทษ

                         5. แบบแผนของพฤติกรรม (Patterns of Behaviors)  หมายถึง พฤติกรรมใดที่เป็นที่ยอมรับและเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แบบแผนพฤติกรรม ลักษณะนิสัยและพิธีกรรมที่ปรากฎในโรงเรียน

                         มิติต่าง ๆ ของวัฒนธรรม หรือลักษณะของวัฒนธรรมทั้ง 5 มาตรฐาน จะเชื่อมโยงมีอิทธิพลต่อกันตามลำดับ เช่น ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนมีอิทธิพลต่อความเชื่อของบุคคลในโรงเรียน ความเชื่อมีอิทธิพลต่อค่านิยม ค่านิยมมีอิทธิพลต่อบรรทัดฐาน และท้ายสุดบรรทัดฐานมีอิทธิพลต่อแบบแผนของพฤติกรรม ดังนั้นถ้าอยากทราบว่าวัฒนธรรมโรงเรียนของโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นอย่างไร อาจจะทำได้จากการถามคำถามครูที่เกี่ยวกับโรงเรียน การทำงานของครู การสอน การเรียนของนักเรียน และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน

                         แพตเตอร์สัน เพอร์กี้ และปาเกอร์ (Patterson, Perkey and Parker 1986,อ้างถึงใน Sergiovanni and Starratt 1988 , Hargreaves 1994)) ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมในโรงเรียนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคลากรในโรงเรียนและพฤติกรรมของบุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐานและมาตรฐานสังคมในโรงเรียนเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานของครูและการปฏิบัติงานนิเทศภายในโรงเรียนด้วยเช่นกัน โดย แพตเตอร์สัน และคนอื่น ๆ ได้ทำเสนอการปฏิบัติหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในโรงเรียนที่จะช่วยให้รู้และเข้าใจตัวบ่งชี้ว่าโรงเรียนเหล่านั้นมีวัฒนธรรมอย่างไร ดังต่อไปนี้

คือ

                         1. การมอบอำนาจ (Empowerment) และการตัดสินใจ (Decision making)

                         2. การแยกตัวโดดเดี่ยวของบุคลากร (Isolationist)

                         3. ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือโรงเรียน (Sense of Community)

                         4. ความไว้วางใจที่โรงเรียนมีต่อบุคลากร (Trust)

                         5. ความมีคุณภาพของโรงเรียน (Quality)

                         6. การยอมรับและยกย่อง (Recognition)

                         7. ความเอื้ออาทร (Caring), ความเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ (Collegial)

                         8. ความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม (Integrity)

                         9. ความหลากหลาย (Diversity)

 

                         ลักษณะและบทบาทของวัฒนธรรมโรงเรียนโดยทั่ว ๆ ไป แบ่งได้ 4 ลักษณะ (Hargreaves 1994)

                         1. แบบแยกตัวโดดเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่ และทำงานของตน (Isolation)

                         2. แบบแยกกลุ่ม (Balkanized Culture) หลายกลุ่มในโรงเรียน

                         3. แบบร่วมกันทำงานตามที่ถูกมอบหมายและให้ปฏิบัติตามที่กำหนดเป็นครั้ง ๆ (Contrived Collegial)

                         4. แบบร่วมมือกันฉันท์เพื่อนร่วมอาชีพ (Collegial) ทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

                         จากผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า วัฒนธรรมโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะส่งผลถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของโรงเรียน (Peterson 2002)

                         สรุปได้ว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมโรงเรียนจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้นิเทศเข้าใจชีวิตในโรงเรียนได้ลึกซึ้งมากขึ้น เข้าถึงโลกของความเชื่อและบรรทัดฐาน และเข้าถึงอาณาเขตของความหมายและความสำคัญของความเป็นไปในโรงเรียน ซึ่งความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานร่วมกับบุคคลได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

 

วัฒนธรรมโรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาในวิชาชีพของครู

                         1. โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning Community)

                         2. การมีเป้าหมายการพัฒนาเดียว (Common Goals)

                         3. การมีบรรทัดฐานที่เป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนโดยรวม

                         4. ผู้บริหาร ครู และนักเรียนมีความคาดหวังสูงในกันและกัน

                         5. ผู้บริหารและครูเชื่อว่าการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำคัญที่สุด (Glathorn 1990)

 

วัฒนธรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิชาชีพ (Professional Learning Community Culture)

                         1. การมีเป้าหมายและค่านิยมร่วมกัน

                         2. การมีบรรทัดฐานและค่านิยมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                         3. ความผูกพันในภาระหน้าที่ การมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน (Commitment)

                         4. การมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันฉันท์เพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน (Collegial Relationship)

                         5. การให้โอกาสและอิสระบุคลากรในโรงเรียนให้แสดงความคิดเห็นเสาะหาความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

                         6. การร่วมมือกันเรียนรู้และพัฒนา (Collaboration)

 

สุขภาพองค์กร (Organizational Health)

                         สุขภาพองค์กรมีความหมายคล้ายกับบรรยากาศองค์กร ที่มองในลักษณะการยอมรับด้วยเหตุผลในเป้าหมายของการปฏิบัติที่ชัดเจน (Goal focus) ไมลส์ (Miles 1965) ได้ให้ความหมายของโรงเรียนที่มีสุขภาพองค์กรดี (Healthy school) ว่าหมายถึงโรงเรียนที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของเป้าหมายในการปฏิบัติในโรงเรียนและมีการยอมรับด้วยเหตุผล มีการสื่อความหมายต่อกันที่ตรงและซัดเจนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน และทั่วถึงกันทุกฝ่าย หน่วยงานทุกระดับมีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ในการมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจ มีการใช้ข้อมูลป้อนเข้าอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งบุคคล สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ โรงเรียนที่มีสุขภาพองค์กรดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียว ความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างบุคคลในโรงเรียน มีขวัญกำลังใจดี และมีความรู้สึกที่เป็นนวัตกรรม ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม อย่างอิสระด้วยความเต็มใจ ปรับตัวเองได้นอกจากนั้นสมาชิกหรือบุคลากรในองค์กรพยายามคงไว้และพัฒนาศักยภาพในการแก้ปัญหาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง ไมลส์ (Miles 1965) ได้นำเสนอลักษณะของสุขภาพองค์กรที่ดีในโรงเรียน 10 ประการ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการนิทศในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้

 

                         ลักษณะของสุขภาพองค์กรที่ดีในโรงเรียน

                         1. การปฏิบัติที่เน้นเป้าหมายที่ชัดเจน (Goal Focus) การกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติควรจะชัดเจนสำหรับสมาชิกทุกคน และทุกคนยอมรับนับถืออย่างเป็นเป้าหมายที่สามารถทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

                         2. การสื่อสาร สื่อความหมายที่ดีและพอเพียง (Communication Adequacy) การสื่อสารถึงกันและกันควรจะมีสื่อสารวิธีการที่สื่อความหมายได้ตรงกัน ไม่เบี่ยงเบนจากความจริง ดังนั้นในองค์กรหรือโรงเรียนมีสุขภาพองค์กรดีนั้น เมื่อมีการสื่อสารถึงกัน จะต้องรู้เข้าใจข้อมูลเกี่ยวข้อง มักพบแนวทางการวินิจฉัยหรือแก้ปัญหาตรงกัน

                         3. การมีอำนาจที่เท่าเทียมกัน (Optional Power Equalization) ในองค์กรในโรงเรียนมีสุขภาพองค์กรดี จะมีการกระจายอำนาจเท่าเทียมกัน นั่นคือ จะมีความร่วมมือกันระหว่างบุคลากรในโรงเรียนมากกว่าการใช้อำนาจบังดับควบคุมกัน

                         4. การใช้ทรัพยากรในโรงเรียนที่เหมาะสม (Resource Utilization)  เช่น การใช้ทรัพยากรบุคคลในโรงเรียนจะเสมอภาคกัน นั่นคือบุคลากรโรงเรียนไม่มี ใครที่รับภาระงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ในขณะเดียวกันการทำงานของแต่ละบุคคลจะมีความรู้สึกว่าได้ทำงานโดยไม่ต่อต้านกับตนเอง ต่องาน มีความรับผิดชอบ แต่ยังมีความรู้สึกที่แท้จริงในการเรียนรู้ การสร้างความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนาเพื่อองค์กรที่ตนเองมีส่วนร่วมรับผิดชอบและเป็นเจ้าของ

                         5. ความสามัคคี (Cohesiveness) ความสามัคคีหรือความปรองดองกัน ซึ่งหมายถึงบุคลากรในองค์กรหรือในโรงเรียนมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นสมาชิกในองค์กรเดียวกันอยากอยู่ อยากทำงานในโรงเรียน โรงเรียนมีอิทธิพลต่อตนเอง จึงมีความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อโรงเรียน

                         6. ขวัญกำลังใจ (Morale) หมายถึง ความพึงพอใจในงาน ความพึงพอใจในตัวเอง มีความสุข พึงพอใจ และมีความสบายใจในชีวิต สบายใจในการทำงาน

                         7. ความมีนวัตกรรม (Innovative) สภาพของโรงเรียนที่บ่งบอกถึงความมีนวัตกรรมหรือเป็นนวัตกรรม อาจมีระบบที่จะสนใจแนวทางการปฏิบัติใหม่ ๆ เพื่อเป้าหมายใหม่ ผลผลิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม มีความหลากหลาย ความแตกต่างให้มากขึ้นด้วยเวลา สรุปได้ก็คือ องค์กรหรือโรงเรียนที่มีสุขภาพองค์กรดี มีความเป็นนวัตกรรม หมายถึง มีการเจริญเติบโต พัฒนา และเปลี่ยนแปลงแทนที่จะปฏิบัติเดิม ๆ คงไว้ดังเดิมหรือมาตรฐานเดิม

                         8. ความมีอิสระ (Autonomy) บุคคลที่มีอิสระมักจะแสดงออกตามที่ได้เป็นสุขภาพองค์กรที่มีอิสระก็เช่นกันจะไม่ตอบสนองต่อสภาพความต้องการจากภายนอกทุกเรื่องจะไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งที่จำเป็นอย่างไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่อการปฏิบัติงานจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

                         9. การปรับตัว (Adaptation) จากแนวคิดที่เกี่ยวกับความมีอิสระและความมีนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับแนวคิดที่เกี่ยวกับบุคคลที่มีสุขภาพดี กลุ่ม และองค์กรที่มีสุขภาพดีในความเป็นจริง จะเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม แต่เมื่อความต้องการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรในองค์กรไม่สอดคล้องกัน วิธีการแก้ปัญหาหรือแนวทางการจัดการอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม

                         10. ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem  Solving Adequacy) ในองค์กรที่มีสุขภาพองค์กรดี มีปัญหาเสมอ อุปสรรค ความยุ่งยากหรือการแก้ปัญหาที่ไม่ประสบผลสำเร็จสุขภาพองค์กรที่ดี ไม่ได้หมายถึงเป็นองค์กรที่ไม่มีปัญหา ดังนั้นผู้นำในองค์กรที่มีสุขภาพองค์กรดี จะต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพื่อตัดสินใจแนวทางในการแก้ปัญหาและให้แก้ปัญหาร่วมกันประสบผลสำเร็จ

 

                         แต่อย่างไรก็ตามลักษณะหรือมิติหนึ่ง ๆ ของสุขภาพองค์กรที่ดีทั้ง 10 ลักษณะ (Healthy School) แต่ละลักษณะจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกัน เช่น การเน้นเป้าหมายที่ชัดเจน (Goal Focus) จะขึ้นอยู่ว่าโรงเรียนได้สื่อเป้าหมายดังกล่าวโดยตรงและชัดเจน โดยเปิดโอกาสให้บุคคลในโรงเรียนได้ทำความเข้าใจเป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน

 

                         สรุปสุขภาพองค์กร (Organizational Health) หมายถึง ลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรหรือโรงเรียนที่มีการกำหนดความหมายการรับรู้ที่ชัดเจน มีการใช้ทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างเสมอภาคกัน บุคลากรในโรงเรียนมีความสามัคคี ปรองดองกัน มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน มีความสามารถในการปรับตัว ความสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

 

                         สุขภาพองค์กรสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ในองค์กรหรือในโรงเรียนซึ่งสุขภาพองค์กรที่ดีทุกลักษณะก็จะสามารถส่งเสริมพัฒนาบรรยากาศแบบเปิดในโรงเรียน ซึ่งทั้ง บรรยากาศองค์กรแบบเปิดและสุขภาพองค์กรที่ดีควรส่งผลซึ่งกันและกัน ยิ่งบรรยากาศองค์กรแบบเปิดและสุขภาพองค์กรมีมากเท่าใด ยิ่งจะเอื้อต่อการปฏิบัติงานทั้งด้านการบริหารและการนิเทศและการร่วมกันพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายและประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

 

คลิกปุ่มนี้  เพื่อเริ่มต้นทำแบบทดสอบหลังการเรียนรู้
คุณจะได้รับเกียรติบัตร หลังจากการทำแบบทดสอบ

 

บรรณานุกรม

วไลรัตน์  บุญสวัสดิ์. (2538). หลักการนิเทศการศึกษา. กรุงเทพฯ : พรศิวการพิมพ์.

วัชรา  เล่าเรียนดี. (2556). ศาสตร์การนิเทศการสอนและโค้ช การพัฒนาวิชาชีพ : ทฤษฎี กลยุทธ์ สู่การปฏิบัติ.

               (พิมพ์ครั้งที่ 12). นครปฐม. : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.